3ตัวแปรหนุนอุตฯพลาสติกโต

 

"สถาบันพลาสติก"มั่นใจปี58 มี 3 ปัจจัยหลัก หนุนอุตสาหกรรมพลาสติกโต  จับตาเทคโนโลยีการผลิตจะไปสู่นวัตกรรมใหม่ ที่มีการผลิตยากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง เผยทิศทางปีหน้าจะช่วยผู้ประกอบการต่อยอดชิ้นงานให้มีนวัตกรรม และสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างแท้จริง
   "ดร.เกรียงศักดิ์ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปี2558 จะมี3ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมพลาสติกเติบโตยิ่งขึ้น โดยปัจจัยแรกเกิดจากที่ อุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างยานยนต์จะขยายตัวสูงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม และยา มีการขยายตัว  ปัจจัยที่ 2 เป็นการโหนกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ที่จะเริ่มในปลายปี2558นี้ทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวไปสู่ตลาดอาเซียนอย่างกว้างขวางขึ้น
    ปัจจัยที่3 จะเป็นเรื่องที่กระแสโลกหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพลาสติกในอนาคตมากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม ที่มีการผลิตยากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีมูลค่าต่อชิ้นสูงขึ้น และมีความปลอดภัยสูง เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เก็บรักษาคุณภาพอาหารได้ยาวนานกว่าเดิม ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภค หรือยืดอายุสินค้าที่วางขายตามเชลฟ์ได้นานขึ้น  หรือยานยนต์ในอนาคตจะหันไปเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์พลาสติกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณสมบัติเบา ช่วยประหยัดน้ำมันรักษาสิ่งแวดล้อม มีความยืดหยุ่นในการออกแบบได้ดี จากที่ปัจจุบันรถเก๋ง 1 คัน ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกรวมประมาณ 100 กิโลกรัม และอนาคตจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์หนัก อุปกรณ์สนับสนุน เช่นถุงน้ำเกลือ ปรอท ที่เริ่มหันมาใช้พลาสติกมากขึ้น โดยมีความสะดวกเพราะใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
    ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกคาดการณ์ว่าจาก 3 ปัจจัยหลักที่กล่าวมา จะทำให้ปี2558 มีมูลค่ายอดขายในอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกที่สูงขึ้นอีก 5% ต่อปี จากที่ปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายรวมอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกอยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท  จากที่ปี 2556 อยู่ที่ 5.80 แสนล้านบาท(ยังไม่รวมมูลค่าส่งออกเม็ดพลาสติกอีกประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี)
    ทั้งนี้ในมูลค่ายอดขายต่อปี ส่วนใหญ่สัดส่วน 50% จะมาจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ถุงพลาสติก ขวดเพ็ต บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหาร  และ15% จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น ท่อพีวีซี สายไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ กระเบื้องยาง วอลล์เปเปอร์ ประตูและวงกบพลาสติก เป็นต้น  อีก 15%จะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี หม้อหุงข้าว พัดลม ตู้เย็น อีก10% เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เหลืออีก 10% จะเป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์และอื่นๆ ที่มาจากตลาดในประเทศและส่งออกรวมถึงการขยายตัวในเขตการค้าชายแดน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา สปป.ลาว ที่นิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีการขยายตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม  โดยแต่ละปีจะใช้เม็ดพลาสติกเพื่อนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากถึง 4 ล้านตันต่อปี
    สำหรับการรณรงค์เรื่อง"ไบโอพลาสติก" ยังเป็นพลาสติกอนาคตที่จะมีความนิยมเพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิด ไบโอพลาสติก ฮับ เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบพืชเกษตร ที่มีทั้งอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง
    ดร.เกรียงศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกคนแรกกล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางในปี2558 มีเป้าหมายว่าสถาบันพลาสติก จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการต่อยอดชิ้นงานให้มีนวัตกรรม และสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างแท้จริง รวมถึงการหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ในการกำหนดมาตรฐานมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานบังคับเพียง 10 รายการเท่านั้น  และผลักดันนโยบายไบโอพลาสติกอย่างต่อเนื่อง 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,002 วันที่  20 - 22 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2557

 

ดาวน์โหลด