สรุปการเสวนา ขยะพลาสติก : 'การจัดการและโอกาส Post COVID-19 หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน'

 

กทม.เผยสถานการณ์การระบาดโควิด ทำให้สัดส่วนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นพลาสติกสภาพดี 7 เปอร์เซ็นต์ และประเภทไม่สามารถรีไซเคิลได้อีกเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ชี้ควรแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด กลุ่มเสวนาแนะบริหารจัดการให้ถูกต้องเหมาะสม พร้อมทำความเข้าใจในตัวพลาสติกและคุณค่าที่มี"

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาตามที่ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมงานเสวนา หัวข้อ ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19 หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ประธานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า ขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย รวมถึงปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ จากการคาดการณ์ของทั่วโลกว่าภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน หากไม่มีวิธีการบริหารจัดการ

นายวิจารย์ กล่าวว่าการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ทั้งนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของของเสียเพิ่มขึ้นควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

@ โควิดระบาด การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอก แพร่ระบาดไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมุม จนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมีเพิ่มสูงขึ้น และพลาสติกก็จัดเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวในด้านของบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและเพื่อการขนส่ง รวมกระทั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงมีการอุปโภคกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด และมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องเหมาะสม การทำความเข้าใจในตัวพลาสติกและคุณค่าที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ด้าน นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่ารูปแบบในการดำรงชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากที่มีวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคมากขึ้น ยิ่งทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้ง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ภาคอุตสาหกรรม การผลิตได้เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์

นายนภดล กล่าวอีกว่า การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากจะสามารถปกป้องและคงคุณภาพของสินค้าจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ลดผลกระทบและภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ การมุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ไม่สามารถทำเพียงโดยองค์กรหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ หากแต่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ ภาควิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ ในการสร้างบรรยากาศการดำเนินการที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดกรอบหลักเกณฑ์เพื่อพร้อมให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน

 

@ กรมควบคุมมลพิษเตรียมแนวทางจัดการขยะพลาสติกหลังหมดโควิด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565

นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด ภาครัฐได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส จึงมุ่งเน้นในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวบรวมพลาสติกนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และในระยะต่อไปหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ทางกรมควบคุมมลพิษจะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการปลายทาง ให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

@ กทม.ตั้งเป้าลดขยะ 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2575

ทั้งนี้ นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.เปิดเผยว่า ปริมาณขยะของ กทม.ในภาพรวมลดลงจากปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 30 ปี หรือ 10,700 ตันต่อวัน เมื่อปี 2561 เหลือ 10,500 ตันต่อวัน ในปี 2562 ลดเหลือ 9,500 ตันต่อวัน ในปี 2563 และในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 เหลือ 8,800 ตันต่อวัน โดยสัดส่วนของขยะพลาสติกในช่วงการแพร่ระบาดโควิดเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ โดยสัดส่วนขยะพลาสติกเดือน เม.ย. 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 2564 ร้อยละ 7.61

นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า แผนพัฒนา กทม. 20 ปี มีวิสัยทัศน์การจัดการขยะด้วยแนวคิดเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด และกำจัดขยะที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะร้อยละ 20 และเพิ่มการนำขยะไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 จากปี 2556 ในปี 2575

นายภาณุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการลดและคัดแยกขยะเพื่อใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้ง Recyclable Waste และ Organic Waste และการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้มากที่สุด ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถานศึกษา ภาครัฐ เอกชน และบริษัทมหาชนหลายแห่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บไปกำจัด ในส่วนขยะที่ต้องกำจัด ทาง กทม.จัดรถเก็บขนมูลฝอยมากกว่า 1,500 คัน บริการจัดเก็บมูลฝอยทั่วไปที่เหลือจากการคัดแยกที่ต้นทางแล้วนำไปกำจัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการเผาผลิตไฟฟ้า (Incinerator) เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) และเทคโนโลยีการหมัก (Composting) แทนการฝังกลบไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากปัจจุบัน และร้อยละ 29 ภายในปี 2570

 

ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาข่าวจาก : www.isranews.org 

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.isranews.org/article/isranews/99305-isranews-1000-23.html

 

ดาวน์โหลด