การพัฒนาผลิตภัณฑ์หนัากากอนามัย CURE Air Sure หน่วยงาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายภาคเอกชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สถาบันพลาสติก

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาจนถึงช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทุกรูปแบบทั่วประเทศ และดูเหมือนว่าหน้ากากอนามัยยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการกรองอากาศจึงกลายเป็นของที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนต้องมีเพื่อใช้ป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรค รอวันที่จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์อีกครั้งด้วยจมูกที่ไร้เครื่องป้องกัน

 

 “เราต้องการ Health Security เราต้องการความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย ในวันที่ประเทศไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์การกรองได้อีกครั้ง”

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์หนัากากอนามัย CURE Air Sure เพื่อสุขภาพที่ดีและสิ่งแวดล้อม หน่วยงาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายภาคเอกชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สถาบันพลาสติก

ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขณะตรวจสอบตัวอย่างหน้ากาก “CURE Air Sure” ตัวต้นแบบ เพื่อเตรียมทดสอบประสิทธิภาพก่อนผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์กำลังในการผลิตเพื่อบริจาคจากคณะศิษย์เก่า และได้รับทุนในการทำวิจัยจากทุนศตวรรษที่ 2 (The Second Century Fund, Chula : C2F) เกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนาหน้ากากจากอาจารย์ นักวิจัยในจุฬาฯ ประกอบด้วย หน่วยงาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ, และคุณหมอที่คณะแพทยศาสตร์ หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด, กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันพลาสติก

ผศ.ดร.รัฐพล รังกุพันธุ์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมผู้พัฒนาในโครงการ ‘เทคโนโลยีการกรองประสิทธิภาพสูงเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย’ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาหน้ากากคุณภาพสูง เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกแรก โดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ร่วมกับสภากาชาดไทยต้องการหาผู้รับตรวจสอบคุณภาพชุด PPE* และหน้ากาก N95 ที่ได้รับบริจาค มีคุณภาพเพียงพอต่อหัตถการทางการแพทย์ ซึ่งทางหน่วยงานได้รับเป็นผู้ตรวจสอบหน้ากาก N95 และหน้ากาก KN95 ก่อนแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก

 

“หลังจากนั้นก็ได้ให้บริการทดสอบแก่ผู้บริจาคและบุคคลภายนอกที่ต้องการพัฒนาหน้ากากทางเลือกมาโดยตลอดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงทำการทดสอบหน้ากาก N95 หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอีกจำนวนมาก เราพบว่ามีหน้ากากจำนวนมากที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้งานมึความเสี่ยงต่ออันตราย คณะทำงานจึงเกิดแนวคิดว่าประเทศไทยควรมีเทคโนโลยีด้านการกรองภายในประเทศเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ขาดแคลนหน้ากากป้องกันระดับสูงในอนาคต เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการรวมทีมและสร้างความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ และภาคเอกชนจัดตั้งบริษัท Cure Enterprise ซึ่งตั้งใจให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยกว่า 70% ของผลกำไรจะกลับคืนสู่จุฬาฯ  ทางทีมได้ร่วมกันพัฒนาและผลิตหน้ากาก CURE Air Sure ซึ่งในส่วนของการผลิตล็อตแรกมีความตั้งใจว่าจะส่งให้กับเจ้าหน้าที่หน้าด่านที่มีความเสี่ยงก่อนที่จะจัดจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป” ผศ.ดร.รัฐพล กล่าว

 

 

การทดสอบ fit test กับหน้ากากอนามัยทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบกับ CURE Air Sure

 ความแตกต่างของหน้ากาก ‘CURE Air Sure’ กับหน้ากากอนามัยทั่วไป นอกจากจะมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่า 95% ซึ่งถือได้ว่ามีประสิทธิภาพการกรองเทียบเท่าหน้ากาก N95 แล้ว หน้ากากนี้ยังใช้แผ่นกรองแบบเปลี่ยนได้ที่ใช้เนื้อวัสดุหนักเพียง 15% ของหน้ากากอนามัยทั่วไปเท่านั้นซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อที่กำจัดยากลงไปได้มาก  ตัวหน้ากากทำจากพลาสติกใสฉีดขึ้นรูป มีจุดเด่นในด้านความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันรอยขีดข่วน และทนต่อสารเคมี อีกทั้งมีขอบซิลิโคนรอบหน้ากากที่ ยืดหยุ่นแนบกระชับกับใบหน้าผู้สวมใส่ ช่วยลดการรั่วไหลจากอากาศภายนอกสู่ภายใน และช่วยลดการระคายเคืองระหว่างผิวกับหน้ากากแ มีช่วงหน้ากากกว้าง ช่วยกักเก็บอากาศทำให้หายใจสะดวกและลดการอับชื้น รวมถึงใช้สายรัดศีรษะปรับความยาวได้แบบพิเศษช่วยลดการพันตัวกับเส้นผม ทำให้ไม่เจ็บผมขณะสวมใส่

 “จากการทดลองใส่จริงประมาณ 3-4 ชั่วโมงพบว่า มีความสบายกว่าการใส่หน้ากาก N95 แม้จะมีไอขึ้นบริเวณหน้ากากขณะพูด แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกอับชื้นขณะสวมใส่ เนื่องจากบริเวณหน้ากากมีพื้นที่กว้างทำให้มีพื้นที่ให้ไอน้ำเกาะ จึงไม่รู้สึกอับชื้นบริเวณผิวหนัง ใช้ง่าย ใส่สบาย ดูแลง่าย เพียงล้างโครงหน้ากากด้วยน้ำสบู่ น้ำเปล่า และตากแห้ง ในส่วนของฟิลเตอร์กรองก็เปลี่ยนเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ราคาไม่เกิน 30 บาท คุ้มค่า แถมสร้างขยะชิ้นเล็กกว่าหน้ากาก N95”

 วิธีสวมใส่ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงเปิดฝาใส่แผ่นฟิลเตอร์กรองและปิดฝาให้สนิท สวมหน้ากาก ปรับสายให้กระชับ ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคและมลภาวะจากฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง CURE Air Sure 1 ชุด ประกอบด้วย โครงหน้ากากและฟิลเตอร์จำนวน 4 ชิ้น (ใช้ได้ 1 เดือน) ราคา 400 บาท และชุดฟิลเตอร์เพียงอย่างเดียว จำนวน 4 ชิ้น ราคา 100 บาท ดังนั้นหากใช้ทุกวัน จะมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 5 บาทในแต่ละวัน ซึ่งขณะนี้ทางทีมงานกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

 ศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าวถึงขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดจำหน่ายว่า “ตอนนี้ผลการทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของแผ่นกรอง และ fit test เรียบร้อยแล้ว โดยหน้ากาก CURE Air Sure ผ่านการทดสอบคุณสมบัติได้อย่างดีมาก ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการกรองอนุภาคที่สูงถึง 99.93% ประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย 99.9% และสามารถหายใจได้อย่างสะดวก (ความดันต่างเพียง 4.3 mm H2O/cm2) นอกจากนี้แผ่นกรองยังสามารถต้านทานการทะลุผ่านของเลือดสังเคราะห์ได้ และไม่ติดไฟ”

 

 

“สำหรับการทดสอบ fit test นั้น เป็นการทดสอบความพอดีของหน้ากาก ซึ่งขึ้นกับขนาดรูปหน้าของผู้สวมใส่ จากการทดสอบกับอาสาสมัครหลายท่านพบว่า หน้ากากมีความพอดีกับคนส่วนใหญ่ แต่ท่านที่มีโครงหน้ายาวและจมูกโด่งก็จะไม่ฟิตค่ะ”

CURE Air Sure เป็นการยกระดับหน้ากากให้มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและเชื้อโรคให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ ลดขนาดฟิลเตอร์และส่วนประกอบของหน้ากากที่จะกลายเป็นขยะในอนาคต นอกจากนี้ยังใส่ใจผู้สวมใส่โดยการเพิ่มพื้นที่หายใจมากขึ้น และเผยรอยยิ้มด้วยวัสดุโปร่งใสที่ผ่านกระบวนการคิดและออกแบบจากทีมนักออกแบบมืออาชีพ จากโจทย์การสร้างนวัตกรรมที่ป้องกันผู้ใช้งานได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วยค่าใช้จ่ายไม่เกินวันละห้าบาท

“การพัฒนาในรุ่นถัดไป เราจะพัฒนาให้เหมาะกับผู้หญิง เพื่อรองรับการแต่งหน้าในชีวิตประจำวัน เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการแต่งหน้า แต่ก็ต้องการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือมลพิษทางอากาศ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการกรองดีเหมือนเดิม” ศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าว

ขอขอบคุณเนื้อหาภาพประกอบผลิตภัณฑ์จาก : https://www.research.chula.ac.th/th/news/12417/

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การตรวจสอบชุด PPE ที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในหัตถการ ICU-COVID-19 ได้ที่ https://www.research.chula.ac.th/th/news/7025/

ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่างๆได้ที่

Website : www.thaiplastics.org

Facebook : Plastics Institute of Thailand - สถาบันพลาสติก

Line : @Thaiplastics

Youtube Official : Thaiplastics

Tel: 02-391-5340-4

 

ดาวน์โหลด