ใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี เมื่อมีความจำเป็นช่วงโควิด 19

ใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี เมื่อมีความจำเป็นช่วงโควิด 19

     เป็นที่ทราบกันดีในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคอย่างเราในหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตในการทำงานที่จะต้องทำงานในรูปแบบ Work Form Home การจับจ่ายใช้สอย การซื้อของที่ต้องมาในรูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ตามมาจากการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ นั่นคือการสั่งซื้ออาหารเพื่อการรับประทาน ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

      จากข้างต้นที่ได้กล่าวมา วันนี้สถาบันพลาสติกได้ลองรวบรวมแนวทางต่างๆ และพลาสติกชนิดต่างๆ ที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องใช้และหยิบจับอยู่ตลอดนั่นคือ “บรรจุภัณฑ์พลาสติก” สำหรับบรรจุอาหาร หรือ ฟู้ด เดลิเวอรี่ สำหรับพลาสติกที่มักจะนำมาบรรจุ หรือใส่อาหารนั่นมีอยู่ 4 ประเภทประกอบด้วย

1.PET (Polyethylene Terephthalate) สัญลักษณ์หมายเลข 1

      สำหรับพลาสติกประเภทแรกที่เราได้ใช้กับการสั่งอาหารมารับประทานถึงที่ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้แก่พลาสติกประเภท PET โดยมากจะมาในรูปแบบ ฝาถาด ถาดบรรจุอาหาร และ ขวดน้ำที่เราใช้บริโภคกันในปัจจุบัน คุณสมบัติเด่นๆ คือสามารถบรรจุอาหาร และใช้รับประทานได้อย่างปลอดภัย สามารถทนต่อกรดบางชนิดได้ดี และที่สำคัญคือความใสที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เห็นหน้าตาของอาหารสินค้านั้นๆ

หากเรามีการบริหารจัดการพลาสติกประเภทนี้ จะสามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่นำพลาสติกประเภทนี้กลับมาเข้าสู่กระบวนการและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้แก่ การแปรสภาพไปเป็นใยสังเคราะห์สำหรับผลิตเสื้อผ้า แผ่นกรอง สายรัดบรรจุภัณฑ์ ผ้าบุแต่งเฟอร์นิเจอร์และพรม เพื่อการอุปโภค ส่วนการบริโภคสามารถนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่หลายรายในปัจจุบันใช้ขวดที่ผลิตจากเม็ด PET รีไซเคิล และบางรายใช้เม็ด PET รีไซเคิลสูงถึง 100% (ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ PET รีไซเคิล มาสัมผัสกับอาหาร)

อ้างอิง : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000032957

     แนวทางการปฏิบัติส่วนที่ขาดไม่ได้ ก่อนที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คือวิธีการดูแล การคัดแยกและการทำความสะอาดให้กับ PET ยังเป็นเรื่องสำคัญอีกด้วย วิธีการทำความสะอาด PET อย่างถูกต้องก่อนนำไปทิ้ง หรือ จะนำไปกลับไปใช้ใหม่ คือการนำฟองน้ำนิ่มๆ มาขัดถู และล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเราก็สามารถนำขวด PET กลับไปใช้หรือจะนำไปคัดแยกขยะต่อได้อย่างสบายใจ ที่สำคัญห้ามล้างด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศา เพราะจะทำให้ PET เสียรูปได้

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ ขวด PET

อ้างอิงโดย : https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastic_story.pdf

 

2.HDPE (High Density polyethylene) สัญลักษณ์หมายเลข 2

 

     สำหรับพลาสติกประเภทที่สอง ที่ผู้บริโภคอย่างเรามักพบเจอและใช้บ่อยได้แก่ กลุ่มพลาสติกอย่าง HDPE ซึ่งจะมารูปแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร และสินค้าอุปโภคที่เราสั่งซื้อผ่านรูปแบบออนไลน์กันบ่อยๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นจะสามารถแยกกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชนิดนี้ได้ถึง 3 ประเภทด้วยกัน

  1. ขวด HDPE ที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ จะเป็นบรรจุภัณฑ์ทึบเช่น ขวดใส่นม หรือ ขวดใส่น้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม เป็นต้น ข้อดีสำหรับพลาสติกชนิดนี้คือ มีความคงทน เหนียว สามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ภายในได้ดี

     การสร้างประโยชน์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ขวด HDPE หากเราทำความสะอาด จะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในกลุ่มสินค้าที่ใกล้เคียงจากเดิม หรือ หากใช้จนเสื่อมสภาพแล้วกลุ่มบรรจุภัณฑ์จาก HDPE สามารถนำกลับไปบดที่โรงงานรีไซเคิล เพื่อนำกลับไปสู่วัตถุดิบ HDPE Recycle ได้ ในเชิงการผลิตสามารถนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ที่สร้างมูลค่าได้

  1. ถุงร้อน HDPE เรามักเห็นรูปแบบถุงสำหรับบรรจุของร้อน บรรจุอาหารซึ่งเป็นทั้งถุงหูหิ้ว ถุงเปิดปากขุ่นสำหรับใส่เครื่องดื่มร้อนเช่น ชา กาแฟ น้ำเต้าหู้ ซึ่งสามารถรับอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 0-100 องศา

     การสร้างประโยชน์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ถุงร้อนจาก HDPE หากผ่านการใช้งานแล้ว สามารถนำกลับไปบดที่โรงงานรีไซเคิล เพื่อนำเศษพลาสติกที่ได้ กลับสู่กระบวนการผลิตเป็นเศษ HDPE Recycle ได้ด้วย

  1. ถุงหูหิ้ว หรือ ถุงเสื้อกล้าม HDPE ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ส่วนนอกสุด เรามักจะเห็นได้บ่อยครั้งเมื่อเราสั่งซื้อสินค้า จะมีถุงนอกสุดเพื่อให้เราได้ใช้ถือหรือหิ้วไปมาได้อย่างสะดวก โดยปัจจุบันถุงประเภทนี้ได้ถูกพัฒนาการผลิต เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านการใช้ซ้ำ Reuse ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการผลิตให้มีความหนาไม่ต่ำกว่า 36 ไมครอน หรือโดยประมาณ 036 มิลลิเมตร

     การสร้างประโยชน์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้ว หรือ ถุงเสื้อกล้าม HDPE อย่างที่ได้กล่าวในเบื้องต้น หากถุงมีความหนาไม่ต่ำกว่า 36 ไมครอน หรือโดยประมาณ 0.036 มิลลิเมตร ผู้ที่ใช้สามารถนำมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นการลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก นอกจากนี้หากผ่านการใช้งานหรือเมื่อเสื่อมสภาพแล้ว เราสามารถคัดแยกถุงเหล่านี้นำกลับไปบดที่โรงงานรีไซเคิล เพื่อนำเศษพลาสติก ที่ได้นำกลับไปสู่กระบวนการผลิตได้ และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกได้ด้วยเช่นกัน

     แนวทางการปฏิบัติเมื่อใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่มพลาสติก HDPE ก่อนที่จะถูกนำกลับไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิลนั้น สิ่งสำคัญคือการทำความสะอาด วิธีที่ถูกต้องในการทาความสะอาดบรรจุภัณฑ์กลุ่ม HDPE คือ การนำฟองน้ำและน้ำยามาขัดถูให้สะอาด จากนั้นสามารถนำไปคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลต่อไป

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ขวด HDPE

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ถุงร้อน HDPE

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้ว และถุงเสื้อกล้าม HDPE

อ้างอิง : https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastic_story.pdf

http://recycle.dpim.go.th/wastelist/waste-detail.php?id=8

 

3.LDPE (Low Density polyethylene) สัญลักษณ์หมายเลข 4

     สำหรับพลาสติกชนิดต่อมาที่เราได้พบเจอบ่อยในช่วงการอุปโภคบริโภค ในสถานการณ์ Covid – 19 นั่นคือพลาสติกชนิด LDPE สำหรับพลาสติกชนิดนี้ พบเห็นในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ห่อสินค้ามาและถุงบรรจุอาหารสำหรับแช่เย็น ทั้งนี้จะพบได้บ่อยเมื่อเราสั่งซื้อขนมปังจากร้านสะดวกซื้อ กลุ่มถุงสำหรับบรรจุอาหารแช่เย็น รวมไปถึง ถุงสำหรับใส่สินค้าอุปโภค เช่น กระดาษทิชชู ผ้าอนามัย และ ผ้าอ้อมเด็ก สะดวก นอกจากนี้ยังถูกนำมาผลิตเป็นถุงหูหิ้ว ถุงเสื้อกล้ามสำหรับใส่สินค้าทั่วไป โดยผลิตให้มีความหนาไม่ต่ำกว่า 36 ไมครอน หรือโดยประมาณ 0.036 มิลลิเมตรด้วยเช่นเดียวกันกับกลุ่มถุงหูหิ้ว HDPE เพื่อให้ตอบโจทย์ด้าน Reuse และกระแสสิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

     พลาสติกชนิดนี้ เมื่อใช้เสร็จแล้วผ่านการคัดแยกขยะ สามารถนำกลับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้เราใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก ด้วยการนำถุงเหล่านี้ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วมาบด จากนั้นสามารถนำเศษนี้ไปผ่านกระบวนการหลอมเหลวเพื่อใช้ในการผลิตถุงจาก LDPE Recycle ได้ต่อไป

     แนวทางการปฏิบัติสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราเมื่อใช้งานเสร็จ ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยด้วยการล้างกับน้ำ จากนำไปสู่การคัดแยกที่ถูกต้องเพื่อนำเข้าสู่การเป็นวัสดุในการผลิตถุงรีไซเคิลได้ต่อไป

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ถุงเย็น LDPE

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้ว และถุงเสื้อกล้าม LDPE

อ้างอิง : https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastic_story.pdf

 

4. PP (Polypropylene) สัญลักษณ์หมายเลข 5

สำหรับพลาสติกชนิดสุดท้ายถือว่าเป็นพลาสติกที่เราแทบจะพบได้บ่อยมาก หากเรามีการสั่งอาหารที่บรรจุถาดมา นั่นคือพลาสติกชนิด PP โดยพลาสติกชนิดนี้จะมาในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถาดใส่อาหารที่มีความร้อน หรืออาหารที่ปรุงสดมาเป็นส่วนมาก รวมไปถึงถุงร้อนประเภทนี้ก็มีด้วยเช่นกัน ดังนั้นพลาสติกชนิดนี้ ถือเป็นพลาสติกที่ถูกนำมาใช้กับอาหารอุ่นร้อนและปรุงเสร็จ เหมาะกับการขนส่งได้ดีอีกด้วย

สำหรับพลาสติกชนิดนี้จัดเป็นกลุ่มพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นพลาสติกกลุ่มนี้หลังจากผ่านการคัดแยกก็สามารถนำมาบดและนำกลับไปเป็นวัตถุดิบรีไซเคิลเพื่อป้อนเข้ากระบวนการผลิตได้ด้วยเช่นกัน

แนวทางการปฏิบัติ ควรนำพลาสติกเหล่านี้ไปล้างและทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด จากนั้นสามารถนำถาดอาหารประเภทนี้มาใช้ซ้ำต่อได้ หรือ หากไม่สามารถใช้ได้แล้วสามารถนำไปสู่กระบวนการคัดแยกได้ สำหรับการทำความสะอาดพลาสติกชนิดนี้ก็สามารถนำมาล้างได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นถุงร้อน หรือบรรจุภัณฑ์ จากนั้นสามารถนำไปสู่กระบวนการคัดแยกได้

ภาพขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ถาดอาหาร PP

อ้างอิง : https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastic_story.pdf

 

     จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดนี้ พลาสติกชนิดต่างๆ มีการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของ โควิด - 19 กันอย่างคุ้นเคย เนื่องด้วยพฤติกรรมในการสั่งซื้อสินค้าตลอดจน การสั่งซื้ออาหารสามารถทำได้โดยระบบออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเดินไปซื้อเอง เพื่อเป็นการลดรวมไปถึงการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคอย่างเรา สามารถคัดแยกและทำความสะอาดขยะพลาสติกเหล่านี้ นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและสามารถนำกลับมาใช้เป็นวัสดุต่างๆ เพื่อผลิตต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

     ทั้งนี้ในส่วนของสถาบันพลาสติกเป็นหนึ่งหน่วยงานที่พร้อมส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติก สามารถรักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยพลาสติกได้ ทั้งการส่งเสริมข้อมูลด้านขยะและรีไซเคิล แนวทางการพัฒนาการจัดการอย่างเป็นระบบ การส่งเสริมการพัฒนาวัสดุจากวัสดุเหลือใช้เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

สามารถติดตามข้อมูลต่างๆของสถาบันพลาสติกได้ที่

Website : www.thaiplastics.org

Facebook : Plastics Institute of Thailand - สถาบันพลาสติก

Line : @Thaiplastics

Youtube Official : Thaiplastics

Tel: 02-391-5340-4 ต่อ 421