แนวทางเพื่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกไปต่อได้

แนวทาง เพื่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกไปต่อได้

เป็นที่ทราบกันดีในช่วงสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ที่ ณ ขณะนี้ยังจัดว่าอยู่ในสถานการณ์ที่มีความน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ทั้งในไทยและระดับโลก แต่ถึงอย่างนั้นการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ หรือภาคการผลิตในระดับอุตสาหกรรมไม่สามารถหยุดนิ่งได้ นอกจากนี้หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการในส่วนของต้นน้ำและส่วนของปลายน้ำก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้กับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นวันนี้สถาบันพลาสติก จึงได้ขอนำเสนอแนวทางสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติก ที่เป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เป็นที่ทราบกันดีสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกในปัจจุบัน ยังต้องยอมรับว่านวัตกรรมยังมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในประจำอยู่มาก การปรับตัวของผู้ประกอบการให้ทันต่อกระแสของตลาด และเตรียมรับมือให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นแนวทางต่างๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถปรับเป็นแนวทางเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ สามารถเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น ยังมีอยู่หลากหลายทางเลือกด้วยกันผ่าน 2 แนวทางดังต่อไปนี้

1. แนวทางด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

สำหรับในแนวทางนี้เป็นที่ทราบกันดี พลาสติกถือเป็นหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอย่างมาก ทั้งชิ้นส่วนสำคัญในการทำงาน ผลิตภัณฑ์บางรายการที่เป็นวัสดุพลาสติกทั้งชิ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถนำกระบวนการผลิตที่มี ไปปรับใช้กับการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ได้ ซึ่งหากเป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบรับกับ การระบาดของ Covid-19 ได้ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ผู้ประกอบการพลาสติกสามารถเลือกเดินพร้อมนำพาธุรกิจไปสู่ทิศทางที่เป็นโอกาสอันดีได้

ในส่วนของแนวทางด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จะขอหยิบข้อมูลที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการที่กำลังปรับตัว และจะหันมาสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วย

ข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยถูกคาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 6.71 ในช่วงปี 2563 – 2564 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของตลาดเครื่องมือแพทย์โลกที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 4.1 – 5.1 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีสาเหตุมาจาก ประชากรในประเทศและในโลกเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบันที่มีความรุนแรงถึงแม้จะมีวัคซีนที่เป็นตัวช่วยก็ตาม แต่อุปกรณ์การแพทย์จากพลาสติกรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ก็ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความสอดคล้องของนโยบายภาครัฐฯ ในการผลักดันเรื่องบัญชีนวัตกรรมตลอดจนการสร้างนวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทย อย่างโครงการการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand (MiT)

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่กำลังจะปรับตัว ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วิธีการผลิตที่เพิ่มเติม การศึกษากลไกตลาดของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ กระบวนการนำเข้าสู่ตลาด ที่ต้องมีการวางแผน รวมถึงหาพาร์ทเนอร์ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ที่แนะนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาให้ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างเหมาะสม

2. แนวทางการปรับตัวให้เหมาะสมกับ BCG Model (Bio-Circular-Green)

สำหรับแนวทางด้าน BCG Model ตามที่เราเข้าใจกันดี เป็นแนวคิดที่มีการต่อยอดมาจากอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดต่างๆ ที่สอดแทรก ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีบทบาทกับหลากอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับด้วยแนวทางของ BCG สำหรับภาคอุตสาหกรรมจึงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญและความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมการ และหากสามารถปรับตัวได้ ก็จะให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมหลากหลายฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงแนวทางในด้าน BCG Model จึงขอจำแนกรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

 2.1 B (Bio) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นแนวคิดการนำทรัพยากรทางการเกษตรและชีวภาพมาปรับใช้ในการผลิต ตลอดจนกระบวนการต่างๆ ให้นวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์ โดยประเทศไทยถือได้ว่ามีความพร้อมทางทรัพยากรชีวภาพสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกหรือประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ กับภาคอุตสาหกรรม ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติก จัดได้ว่ามีบทบาทเป็นอย่างมากในงานผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็น Single Use หากสามารถนำเรื่องนี้มาพัฒนาต่อยอดได้ ความคุ้มค่าต่อผู้ประกอบการที่มีการปรับใช้กลุ่มงานพลาสติกชีวภาพ ก็จะมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในตลาดของบางประเทศที่มีการกำหนดให้ใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ ถึงแม้จะมีการลงทุนที่สูง การพัฒนากระบวนผลิตต่างๆ ให้มากขึ้นแต่ความคุ้มค่าที่สร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในตลาดระยะยาวก็ให้เกิดโอกาสที่น่าสนใจในการลงทุน ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อกำหนดตลอดจนการดูผลิตภัณฑ์ที่ผลิตให้เหมาะสมกับกลุ่มงานชีวภาพ จะยิ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวในแนวทาง Bio Economy ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 2.2 C (Circular) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับแนวคิดนี้ เป็นการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ต้องลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์

ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติก การพัฒนากระบวนผลิตที่ตอบโจทย์ต่อการลดความสูญเสียต่างๆ ทั้งเศษจากการผลิต การสร้างประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตได้อย่างคุ้มค่า ถึงแม้ในแนวทางนี้อาจจะเป็นสิ่งมองสะท้อนไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริงในการลงทุน แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการใช้แนวทางนี้จะมาในรูปแบบของการประหยัดค่าใช้จ่ายและการลดต้นทุนทั้งจากการผลิต และค่าใช้จ่ายในกระบวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มขยะจากพลาสติกที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนสู่กระบวนการได้ ด้วยการแปรรูปให้กลับมาเป็นวัสดุที่สามารถนำเข้าไปสู่กระบวนการผลิต หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะเหล่านั้น ทำให้เรามักได้ยินแนวคิดของ 3R Concept, Upcycling, Recyclingวิธีการต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจของผู้ผลิตสามารถไปต่อได้อย่างเหมาะสมในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

 2.3 G (Green) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สำหรับแนวคิดนี้ เป็นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การดูแลให้ความสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติรวมไปถึงการไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติกเริ่มมีให้เราได้เห็นกันมากขึ้นในการใช้แนวทางนี้ สำหรับการปรับตัวและการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านการผลิตที่ลดใช้สารเคมีที่มีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม การสร้างโมเดลในการจัดเก็บขยะจากผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติโดยการนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ ดังนั้นสำหรับในการใช้แนวทางของผู้ประกอบการอาจจะคำนึงให้กว้างขึ้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานและตอบโจทย์ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้จากทั้ง 2 แนวทางที่ได้กล่าวมาในข้างต้นถึงแม้ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม หรืออาจจะต้องมีการขยายการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นแต่สิ่งผู้ประกอบการจะรับกลับมาด้วย จะมีประโยชน์ทั้งในทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองต่อตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงนโยบายการสนับสนุนต่างๆ จากทางภาครัฐฯได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูล รวมไปถึงเรียนรู้กับแนวทางทั้ง 2 ก่อนการตัดสินใจเดินทางธุรกิจ สถาบันพลาสติกพร้อมส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนา ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจทั้ง 2 แนวทางได้ ประกอบด้วย การเตรียมตัว การรับมือ และความรู้สำหรับการเริ่มต้นในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ผ่าน หลักสูตร เปิดประตู สู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ FIRST STEP TOWARDS MEDICAL DEVICE INDUSTRY รุ่น 2 และ หลักสูตรอบรมเจาะลึกอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์พลาสติก ในส่วนของแนวทางด้าน BGC Model ทางสถาบันพลาสติกพร้อมส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมด้วยบริการให้คำปรึกษาการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การจัดทำข้อมูล บริการจัดฝึกอบรมสำหรับหน่วยงาน (In house Training) รวมไปถึงหลักสูตรอบรมที่มีความเกี่ยวข้อง

สามารถติดตามข้อมูลต่างๆ ของสถาบันพลาสติกได้ที่

Website > https://www.thaiplastics.org/

Facebook : Plastics Institute of Thailand - สถาบันพลาสติก

Line : @Thaiplastics

Youtube Official : Thaiplastics

Tel: 02-391-5340-43 ต่อ 425

อ้างอิงโดย

https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/

http://www.tcels.or.th/Resources/Technology-Trends/2268?k=HH4USC7AL7O6SBMK

https://marketeeronline.co/archives/209826

http://www.tcels.or.th/ 

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930444

https://www.sdgmove.com/2021/04/14/bcg-economy-model-trend-th-national-agenda-2021/