สถาบันพลาสติก ร่วมกับ สยามพิวรรธน์ Dow PPP Plastics และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลง ความสำเร็จโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน

      ในการบริหารจัดการขยะพลาสติก ให้สอดคล้องหนึ่งในนโยบายแห่งชาติอย่าง BCG Model จากภาครัฐฯ หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน C Circular Economy ที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ ลดการทิ้งอย่างไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งวัสดุพลาสติกถือเป็นหนึ่งวัสดุที่มีความสำคัญในการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ และหากบริหารจัดการให้เกิดผลได จะถือเป็นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ เป็นการสร้างระบบรีไซเคิลให้เกิดประสิทธิภาพได้

 

      เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 – สถาบันพลาสติก ร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด PPP Plastics กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงผลความสำเร็จกิจกรรม Siam Pieces โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลศูนย์คัดแยกที่มีศักยภาพในการจัดเก็บขยะพลาสติกทุกประเภท รวมถึงการคัดแยกประเภทวัสดุที่รีไซเคิลได้อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

      

      ในกิจกรรมได้มีการขึ้นบรรยายและบอกเล่าถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในหลากหลายมุมมองได้แก่


      คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ ที่สยามพิวรรธน์ยึดหลักแนวคิดในการประกอบธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผู้คน สังคม และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนการดำเนินงานหลักขององค์กรด้วยกลยุทธ์ “ร่วมกันรังสรรค์และการสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย” และการดำเนินโครงการที่ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันในอนาคตอีกด้วย”สยามพิวรรธน์ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยต่อยอดแนวคิดพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model)การบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมเมือง และจากผลการวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่แผนธุรกิจที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นสำหรับการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกหลังการใช้ให้เหมาะสมต่อไปได้อีกในอนาคต


      นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ได้กล่าวถึง ภาพรวมและความสำเร็จของการดำเนินโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ(Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช.
โดยได้เริ่มจัดตั้งโครงการในปี 2564 จนได้ผลสำเร็จในปีนี้

      ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลต้นแบบที่มีศักยภาพในการจัดเก็บพลาสติกทุกประเภท โดยมีพื้นที่ศึกษา คือ พื้นที่วันสยาม ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตลอดทั้ง Value chain ของการจัดการพลาสติก และจัดทำข้อสรุปของผลการวิจัยออกมาในรูปแบบของ คู่มือการบริหารจัดการขยะพลาสติกสำหรับศูนย์การค้า เพื่อให้สะดวกต่อการที่ศูนย์การค้าหรือพื้นที่ที่มีรูปแบบใกล้เคียง ในการนำแนวทางที่ได้สรุปจากการวิจัยนี้ไปประยุกต์และปรับใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ตลอดจนส่งต่อแนวคิดให้ผู้คนในสังคมร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกในปัจจุบัน
ความเข้าใจถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นจากการจัดการพลาสติกอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

      นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวว่าหนึ่งในเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ แอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันสถาบันพลาสติกและโครงการฯ ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่จะถือได้ว่าเป็นจุดเชื่อมโยงหรือศูนย์รวมของทุกภาคส่วนที่จะมีส่วนช่วยในการบริการจัดการขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์ กลุ่มผู้รับซื้อขยะพลาสติก รายย่อย ไปจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้เกิดเป็นระบบที่สามารถส่งต่อขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการนำไปทิ้งอย่างเสียเปล่าพร้อมให้สามารถนำกลับมาสู่ภาคการผลิตในอุตสาหกกรรมได้อีกครั้ง

 

      โดยแอปพลิเคชั่น ที่ทางสถาบันพลาสติกและโครงการได้พัฒนาในชื่อ Recycle Now ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายขยะพลาสติกรวมไปถึงขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ โดยมีการทำงานที่ง่ายและสะดวก เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถคัดแยกขยะและสร้างมูลค่าขยะได้ด้วยตนเอง โดยภายในแอปพลิเคชั่นผู้ใช้สามารถลงประกาศขายขยะพลาสติกหรือขยะรีไซเคิลที่ตนเองต้องการจะขายลงในแอปพลิเคชั่น และหลังจากนั้นจะมีผู้ที่ต้องการซื้อมาติดต่อและดำเนินการซื้อขายในแอปฯต่อไป

      ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคถึงปัจจัยและแรงจูงใจที่ส่งผลต่อการคัดแยกขยะ รวมกับผลของแบบแผนธุรกิจในการจัดการขยะและแอปพลิเคชั่นที่พัฒนามาแล้วนั้น จะสามารถทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมากถูกนำกลับเข้าระบบอีกครั้งและสร้างการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนต่อไป


สามารถติดตามข้อมูลอันเป็นประโยชน์ได้ที่

Website > https://www.thaiplastics.org/

Facebook : Plastics Institute of Thailand - สถาบันพลาสติก

Line : @Thaiplastics

Youtube Official : Thaiplastics

Tel: 02-391-5340-43 ต่อ 421

ดาวน์โหลด